ทุก ๆ คนต้องเคยได้ยินว่าผักและผลไม้นั้นมีประโยชน์ อุดมไปด้วยแร่ธาตุ และวิตามินมากมายหลากหลายชนิด
นอกจากนั้น ผักและผลไม้ยังถูกจัดให้เป็นอาหารที่มีสารอาหารในกลุ่มไฟโตนิวเทรียนท์ หรือสารพฤกษาเคมีสูง
สารพฤกษาเคมี เป็นสารอาหารที่ร่างกายสร้างขึ้นเองไม่ได้ ต้องได้รับจากพืชเท่านั้น
เป็นสารที่ช่วยต้านอนุมูลอิสระ กระตุ้นภูมิคุ้มกัน ช่วยชะลอความเสื่อม และช่วยป้องกันการติดเชื้อและการเกิดโรคต่าง ๆ ได้
แล้วทำไมผักและผลไม้ จึงมีสีแตกต่างกันล่ะ ?
เพราะสีของผักผลไม้แต่ละชนิด มีสารอาหารและแร่ธาตุที่เฉพาะเจาะจงของใครของมัน
ซึ่งเป็นสารจากธรรมชาติที่ช่วยปกป้องพืชจากเชื้อโรค จากมลภาวะภายนอก แสงแดดที่เป็นอันตราย อันเป็นสาเหตุของโรคในพืช และคงช่วยคงความอ่อนเยาว์และสดใหม่ของพืชผักผลไม้ชนิดนั้น ๆ นั่นเองครับ
ลองมาดูกันว่าสีของผักและผลไม้แต่ละชนิด มีแร่ธาตุ วิตามิน และสารอาหารอะไรที่มีโภชนประโยชน์ต่อผู้บริโภคอย่างเราบ้าง
ผักและผลไม้สีแดง
ผักและผลไม้สีแดง อุดมไปด้วยสารพฤกษาเคมีอย่าง Phytonutrients ไลโคปีน เบตาไซซีน และเอลลาจิก
Phytonutrients มีฤทธิ์ต่อต้านหรือป้องกันโรคบางชนิด โดยเฉพาะในกลุ่มของโรคมะเร็ง
เอลลาจิก ช่วยลดการทำลายดีเอ็นเอ ที่จะทำให้เกิดโรคเรื้อรัง และทำให้เกิดภาวะแก่ อีกทั้งยังช่วยยับยั้งการทำงานของเอ็นไซม์บางชนิด ที่จะนำไปสู่เนื้องอกในกระเพาะปัสสาวะของมนุษย์ และยังสามารถหยุดการขยายตัวของเซลล์ ช่วยยับยั้งการแบ่งเซลล์ในเซลล์มะเร็งปากมดลูก และยังช่วยป้องกันการแพร่กระจายของเซลล์มะเร็งได้ครับ
ส่วนไลโคปีนที่เรารู้จักกันดีจากน้ำมะเขือเทศยอดฮิตนั้น นอกจากจะช่วยบำรุงผิวพรรณแล้ว ไลโคปีนยังมีส่วนช่วยลดอัตราเสี่ยงการเป็นมะเร็งหลายชนิด โดยเฉพาะมะเร็งต่อมลูกหมาก มะเร็งเต้านม มะเร็งปากมดลูก แถมยังช่วยลดอัตราเสี่ยงของการเป็นโรคไขมันอุดตันในเส้นเลือดได้อีก
ตัวอย่างของผักผลไม้สีแดงเพื่อสุขภาพ ได้แก่ พริกแดง มะเขือเทศ สตรอเบอร์รี่ ราสเบอรี่ แตงโม แอปเปิ้ล แครนเบอร์รี่ เชอร์รี่ องุ่น หอมแดง ทับทิม
ผักและผลไม้สีเหลืองและสีส้ม
ผักและผลไม้สีเหลือง อุดมไปด้วยสารพฤกษาเคมีอย่างแคโรทีนอยด์ (Carotenoids) และเบต้าแคโรทีน (Betacarotene)
สารแคโรทีนอยด์ (Carotenoids) และเบต้าแคโรทีน (Betacarotene) มีส่วนช่วยเพิ่มระบบภูมิคุ้มกัน ช่วยลดความเสี่ยงต่อการเป็นโรคมะเร็งหลายชนิด เช่น มะเร็งปอด มะเร็งปากมดลูก มะเร็งผิวหนัง และมะเร็งลำไส้
ช่วยลดความเสี่ยงต่อการเป็นโรคหัวใจได้ถึง 40% ช่วยลดความเสี่ยงต่อการเป็นโรคต้อกระจก และโรคจอประสาทตาเสื่อมได้
นอกจากนี้เบต้าแคโรทีน และแคโรทีนอยด์ เมื่อเข้าไปสู้ร่างกาย จะถูกเปลี่ยนเป็นวิตามินเอได้เมื่อร่างกายต้องการ
ส่วนผักและผลไม้สีส้ม จะอุดมไปด้วยสารเฮสเพอริดิน (Hesperidin)
สารเฮสเพอริดิน (Hesperidin) มีฤทธิ์ในการช่วยเพิ่มการไหลเวียนโลหิต ช่วยเพิ่มภูมิคุ้มกันลดความเสี่ยงต่อโรคหัวใจ ส่งเสริมสุขภาพของหัวใจและหลอดเลือดสีดำ ช่วยบำรุงสุขภาพดวงตา อีกทั้งยังช่วยส่งเสริมวิสัยทัศน์และการเจริญเติบโตของเซลล์ภายในร่างกายอีกด้วย
ตัวอย่างของผักผลไม้สีเหลืองและสีส้ม ได้แก่ ส้ม เกรฟฟรุ๊ต เลมอน มะม่วงสุก มะละกอ แครอท มันฝรั่งหวาน ข้าวโพด แคนตาลูป พริกสีส้มและสีเหลือง สัปปะรด ลูกพีช เป็นต้น
ผักและผลไม้สีเขียว
ผักและผลไม้สีเขียว อุดมไปด้วยสารพฤกษาเคมีอย่างสารลูทีน (Lutein) ไอโซไธโอไซยาเนท (Isothiocyanates) ไอโซฟลาโวน (Isoflavone) วิตามินเค (Vitamin K) และโฟเลต
กลุ่มสารลูทีน (Lutein) ไอโซไธโอไซยาเนท (Isothiocyanates) ไอโซฟลาโวน (Isoflavone) และ วิตามินเค มีส่วนช่วยในการเพิ่มระบบภูมิคุ้มกันภายในร่างกาย และช่วยล้างสารพิษในร่างกาย ฟื้นฟูพลังงานในร่างกายให้รู้สึกมีกำลังขึ้นมาได้
วิตามินเค มีส่วนช่วยในการเสริมสร้างกระดูกให้แข็งแรง ป้องกันภาวะเลือดไหลไม่หยุด ควบคุมการทำงานของเลือดให้ดียิ่งขึ้น
ผลไม้สีเขียวบางชนิดเช่น กีวี ก็มี วิตามินซีเป็นส่วนประกอบอยู่ด้วย จึงช่วยส่งเสริมภูมิคุ้มกันภายในร่างกายให้ดีขึ้นได้ บรรเทาอาการการนอนไม่หลับ และช่วยซ่อมแซมความเสียหายของดีเอ็นเอได้อีกด้วย
ตัวอย่างของผักผลไม้สีเขียว ได้แก่ บร็อคโคลี ผักคะน้า ผักกาดหอม กระหล่ำปลี องุ่นสีเขียว แอปเปิ้ลเขียว หน่อไม้ฝรั่ง ผักขม ถั่วเขียว บวบ กีวี่ อาโวคาโด
ผักและผลไม้สีฟ้าและสีม่วง
ผักและผลไม้สีฟ้าและสีม่วง อุดมไปด้วยสารพฤกษาเคมีอย่างแอนโธไซยานินส์ (Anthocyanins) และเรสเวอราทรอล (Resveratrol)
สารแอนโธไซยานินส์ (Anthocyanins) และเรสเวอราทรอล (Resveratrol) ถือเป็นสารต้านอนุมูลอิสระชั้นเยี่ยม
ช่วยในเรื่องของการชะลอวัย ชะลอความเสื่อมของเซลล์ผิว โดยทำหน้าที่กระตุ้นคอลลาเจนใต้เซลล์ผิว ช่วยให้ผิวเปล่งปลั่งสดใส ช่วยลดไขมันไม่ดี (LDL) ป้องกันการเกิดมะเร็ง ช่วยให้ระบบไหลเวียนโลหิตดีขึ้น ลดการเสี่ยงเป็นโรคหัวใจ ลดความเครียด ป้องกันการเสื่อมของเส้นประสาทในสมอง ซึ่งทำให้เกิดโรคความจำเสื่อมหรืออัลไซเมอร์
ตัวอย่างของผักผลไม้สีฟ้าและสีม่วง ได้แก่ บลูเบอร์รี่ แบล็คเบอร์รี่ องุ่นแดง (สีม่วง) กะหล่ำปลีแดง (สีม่วง) มะเขือม่วง ลูกพลัม พรุน มะเดื่อ
ผลไม้และผักสีขาวและน้ำตาล
ผักและผลไม้สีขาวและสีน้ำตาล จะอุดมไปด้วยสารพฤกษาเคมีอย่างสารอัลลิซิน (Allicin) และ สารควอซิทิน (Quercetin)
สารอัลลิซิน (Allicin) และสารควอซิทิน (Quercetin) มีฤทธิ์ในยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อแบคทีเรียและเชื้อราหลายชนิด ช่วยลดระดับของคอเลสเตอรอลในเลือด ลดความดันโลหิต ช่วยสลายลิ่มเลือดที่อุดตันในเส้นเลือก และช่วยขายหลอดเลือดให้กว้างขึ้นได้
นอกจากนี้ยังมีส่วนในการป้องกัน และยับยั้งการรุกรามของเซลมะเร็งได้อีกด้วย
ตัวอย่างของผักผลไม้สีขาวและสีน้ำตาล ได้แก่ กะหล่ำ กระเทียม หัวหอม เห็ด มันฝรั่ง ผักกาด หัวไชเท้า สาลี่
บทสรุป
ร่างกายจะได้ประโยชน์จากสารพฤกษาเคมีในผักและผลไม้อย่างเต็มที่นั้น ต้องทานผักและผลไม้ในปริมาณที่เหมาะสม ทานเป็นประจำสม่ำเสมอ ทานเฉลี่ยไปในทุก ๆ กลุ่ม และทุก ๆ สี สลับหมุนเวียนกันไป
ที่สำคัญต้องเป็นผักและผลไม้ที่ได้มาจากแหล่งธรรมชาติ ไม่ผ่านการฉีดหรือใส่สารเคมี เพื่อให้สามารถได้รับสารอาหารจากผักผลไม้อย่างเต็มที่ และเห็นผลในเรื่องสุขภาพได้ชัดเจน