You are currently viewing ไขมันทรานส์ ตัวการร้ายต้นเหตุก่อ 9 โรคอันตราย

ไขมันทรานส์ ตัวการร้ายต้นเหตุก่อ 9 โรคอันตราย

Share on facebook
Facebook
Share on twitter
Twitter

500,000 รายต่อปี คือจำนวนผู้ป่วยที่ต้องเสียจากโรคหัวใจและหลอดเลือด

และองค์การอนามัยโลกรณรงค์ให้ลดและเลิกการใช้ไขมันทรานส์ ภายในปี ค.ศ. 2023 (พ.ศ. 2566) เพื่อลดอัตราการเสียชีวิต

โดยองค์การอนามัยโลกได้ทำการส่งแผนเรียกร้องให้รัฐบาลทั่วโลกห้ามใช้ไขมันทรานส์ หลังจากพบว่าไขมันทรานส์เป็นสาเหตุทำให้ผู้คนล้มป่วยและเสียชีวิตในหลายประเทศ จนเกิดเป็นกระแสสังคม สื่อหลายสำนักเชิญผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับโภชนาการด้านอาหารออกมาให้ความรู้เป็นจำนวนมาก และยังมีผู้ประกอบการอีกหลายรายที่ออกมาประกาศว่าตนเองไม่ได้ใช้ไขมันทรานส์ในการผลิต

จริง ๆ แล้ว ไขมันทรานส์ เป็นที่สิ่งใกล้ตัวมาก ๆ และอยู่กับเรามานมนานหลายศตวรรษ เชื่อว่าทุกคนบนโลก คงไม่มีใครที่ไม่เคยบริโภคไขมันทรานส์ เพราะมันคือวัตถุดิบสำคัญของอุตสาหกรรมเบเกอรี่หรืออุตสาหกรรมอาหารที่ผลิตออกมาให้เราได้รับประทานกันอยู่ทุกวัน หรือถ้าหากมีใครสังเกตโภชนาการข้างถุงขนมที่เราหยิบขึ้นมาชมบ่อย ๆ ตามห้างสรรพสินค้า หรือร้านสะดวกซื้อ ก็มักจะพบว่ามีส่วนประกอบหลักเป็นไขมันทรานส์ หรือ Trans Fat อยู่เสมอ

ไขมันทรานส์ (Trans Fat) คืออะไร ?

ไขมันชนิดทรานส์ คือไขมันแปรรูปชนิดหนึ่ง เกิดจากการนำน้ำมันพืชที่เป็นไขมันไม่อิ่มตัวมาสังเคราะห์ระหว่างกระบวนการผลิตอาหาร โดยการเติมไฮโดรเจน (Hydrogenation) เข้าไปในน้ำมัน เพื่อให้เกิดการแข็งตัวมากขึ้น โดยนิยมนำไปใช้เพื่อยืดอายุอาหาร เพิ่มความคงตัวของรสชาติ เช่น เนยขาว มาการีน ซึ่งนำไปใช้เป็นส่วนประกอบหลักของ คุกกี้ อาหารทอด และขนมอบ ที่เรานิยมบริโภคกันอยู่ทุกวัน

ไขมันทรานส์ เป็นตัวการร้ายต้นเหตุก่อโรคอันตรายได้อย่างไร

ไขมันทรานส์ ตัวการร้ายที่ซ่อนอยู่ในขนมหวานแสนอร่อย ไม่เพียงแต่จะทำให้ผู้ที่ลิ้มลองหลงไหลในรสชาติ แต่ยังสามารถสร้างโทษต่อผู้รับประทานได้อย่างมหาศาล

เนื่องจากไขมันทรานส์ไม่แค่ทำให้คอเลสเตอรอลชนิดไม่ดี (LDL) หรือไขมันเลวเพิ่มสูงขึ้นในเลือดแล้ว ยังเข้าไปทำหน้าที่ลดระดับคอเลสเตอรอลชนิดดีต่อสุขภาพ (HDL) หรือไขมันดี ในเลือดให้ต่ำลงอีกด้วย ทำให้เพิ่มโอกาสเสี่ยงต่อการเกิดโรคอันตรายต่าง ๆ ได้ ดังนี้

โรคหลอดเลือดหัวใจ

เนื่องจากไขมันทรานส์เข้าไปเพิ่มคอเลสเตอรอลชนิดไม่ดี  (LDL) ในร่างกาย และเพิ่มระดับไตรกลีเซอไรด์แล้ว ยังเข้าไปลดปริมาณคอเลสเตอรอลชนิดดี (HDL) ไขมันชนิดเลวจึงมีปริมาณมากกว่าไขมันชนิดดีเข้าไปเกาะตามผนังหลอดเลือด จึงเป็นสาเหตุของโรคหลอดเลือดหัวใจได้ หรือผนังหลอดเลือดก็จะอุดตัน ส่งผลให้กล้ามเนื้อหัวใจทำงานด้อยประสิทธิภาพ เพิ่มความเสี่ยงต่อโรคหัวใจ โรคไขมันในเลือดสูง ไขมันอุดตันในเส้นเลือด หรือหากเกิดภาวะกล้ามเนื้อหัวใจตายก็อาจเกิดอาการหัวใจวายเฉียบพลันได้เช่นกัน

โรคเส้นเลือดอุดตันในสมอง

ไขมันทรานส์มีส่วนเกี่ยวข้องกับภาวะไขมันอุดตันเส้นเลือด ส่งผลให้ร่างกายลำเลียงเลือดไปเลี้ยงสมองไม่ทัน เพิ่มความเสี่ยงภาวะสมองขาดเลือด เนื่องจากเส้นเลือดอุดตันทำให้เลือดไปเลี้ยงสมองไม่สะดวก และหากร้ายแรงมาก ๆ อาจถึงขั้นเสียชีวิต

โรคความดันโลหิตสูง

เมื่อไขมันเลวสะสมอยู่ตามผนังหลอดเลือดมากขึ้น ส่งผลให้การไหลเวียนของเลือดไหลเวียนได้ช้าลง กระทบต่อความดันโลหิตในร่างกายด้วย ทำให้โลหิตที่ไปเลี้ยงส่วนต่าง ๆ ของร่างกายจะทำงานผิดปกติ อันเป็นเหตุให้เพิ่มความเสี่ยงต่อโรคความดันโลหิตสูงมากขึ้น โดยเฉพาะผู้ที่มีภาวะโรคอ้วน อาการป่วยเกี่ยวกับสมอง ต่อมหมวกไต ต่อมไร้ท่อ หรือมีโรคประจำตัวอย่างโรคเบาหวาน อาจเกิดโรคความดันโลหิตได้ง่ายกว่าบุคคลปกติ

อ้วนลงพุง

กรดไขมันทรานส์มีส่วนกระตุ้นให้เกิดโรคอ้วนและโรคอ้วนลงพุงได้ จากการวิจัยของคณะแพทยศาสตร์มหาวิทยาลัยฮาวาร์ดพบว่า ไขมันทรานส์ก่อให้เกิดความผิดปกติของระบบเผาผลาญภายในร่างกาย ส่งผลให้มีความเสี่ยงต่อโรคอ้วนและโรคอ้วนลงพุง รวมไปถึงโรคติดต่อเรื้อรังอื่น ๆ ด้วย

อัลไซเมอร์

ไขมันทรานส์จะเข้าไปเพิ่มระดับคอเลสเตอรอลชนิดเลว และลดคอเลสเตอรอลชนิดดีอันเป็นส่วนสำคัญในกระบวนการทำงานของสมอง โดยเฉพาะในด้านการเรียนรู้และจดจำ ส่งผลให้การทำงานของสมองมีประสิทธิภาพ ในบางคนที่มีระดับคอเลสเตอรอลชนิดเลวสะสมอยู่ในร่างกายเป็นจำนวนมาก มักจะมีอาการหลง ๆ ลืม ๆ บ่อยกว่าคนที่มีระดับคอเลสเตอรอลอยู่ในเกณฑ์ปกติ ส่งผลให้มีความเสี่ยงเป็นโรคโรคอัลไซเมอร์ในระยะยาวได้     

ตับทำงานผิดปกติ

ร่างกายของเราไม่มีเอนไซม์หรือกระบวนการย่อยสลายไขมันทรานส์อย่างเฉพาะเจาะจง จึงส่งผลให้ตับต้องสลายไขมันทรานส์ด้วยวิธีการที่ต่างไปจากการย่อยสลายไขมันปกติ ทำให้ตับทำงานหนักมากขึ้นจนอาจเกิดภาวะผิดปกติต่อการทำงานของตับได้ 

นิ่วในถุงน้ำดี

จากการสำรวจพบว่าผู้ที่มีพฤติกรรมการกินไขมันทรานส์จากอาหารเป็นประจำ จะมีความเสี่ยงโรคนิ่วในถุงน้ำดีมากกว่ากลุ่มผู้ที่มีพฤติกรรมการกินอาหารไขมันต่ำ

มีลูกยาก

เพียงแค่ได้รับไขมันทรานส์มากกว่า 2% ของปริมาณพลังงานทั้งหมดที่ควรได้รับต่อวัน ก็จะเพิ่มความเสี่ยงภาวะมีบุตรยากเป็นสองเท่าเลยทีเดียว จากการศึกษาจากมหาวิทยาลัยฮาวาร์ดพบว่า ผู้หญิงที่มีภาวะมีบุตรยาก มักจะมีพฤติกรรมกินไขมันทรานส์มากกว่าผู้หญิงปกติ

มะเร็งเต้านม

โดยเฉพาะในวัยหมดประจำเดือน
การศึกษาจากสถาบันการพยาบาลแห่งชาติสหรัฐฯ พบว่า ไขมันทรานส์มีส่วนกระตุ้นความเสี่ยงโรคมะเร็งเต้านมในผู้หญิงวัยหมดประจำเดือน รวมไปถึงผู้หญิงที่มีร่างกายอ่อนแอ มีระบบภูมิคุ้มกันต่ำ หรือผู้ที่ได้รับยาบางชนิดที่กดภูมิคุ้มกัน เป็นต้น 

เป็นอย่างไรกันบ้างครับ โรคอันตรายที่เกิดขึ้นจากการบริโภคไขมันทรานส์ มากมายมหาศาลทีเดียว ใครที่ยังติดขนมหวาน เบอเกอรี่ หรือขนมที่มีส่วนผสมของไขมันทรานส์ ยังกลับใจหันมาดูแลสุขภาพทันนะครับ หวังเป็นอย่างยิ่งว่าการลดจำนวนไขมันทรานส์ในอาหาร จะส่งผลให้คนไทยมีสุขภาพที่ดีขึ้นกันบ้าง

อาหารแต่ละประเภทถูกปรุงไม่เหมือนกัน สารอาหารก็มีทั้งดีและไม่ดี สุขภาพของคุณจะเป็นแบบไหน คุณเลือกได้ครับ

ข้อมูลจาก

https://www.bbc.com
https://health.kapook.com

Share on facebook
Facebook
Share on twitter
Twitter

Leave a Reply